สถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม
 
 
แผนที่ผลลัพธ์ (Outcome Mapping: OM)
การวางแผนเพื่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม


     สคส. เริ่มศึกษาและรู้จัก KM ในปี 2547 แล้วอุปมา อุปมัย ว่า KM เป็นปลาทู 1 ตัว ที่ต้องมี หัวปลา กลางปลา และหางปลา โมเดลปลาทูนี้ทำขึ้นเพื่อให้เข้าใจง่าย โดยจะเน้นที่กลางปลา คือ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ที่ต้องมี "คุณอำนวย" "คุณกิจ" "คุณลิขิต" ซึ่งเกี่ยวข้องกับ "คน" ทั้งสิ้น จึงเรียก KM ลักษณะนี้ว่า "Human KM" ปี 2548 GotoKnow ถูกพัฒนาขึ้นโดย ดร.ธวัชชัย ปิยะวัฒน์ จาก มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็น Knowledge Sharing ใน IT เราเรียกการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในลักษณะนี้ว่า "Digital KM" ในช่วงนั้น สคส. คิดว่า KM ต้องมีทั้ง 2 ส่วนนี้ แต่จะใช้ส่วนใดมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับหน่วยงานหรือองค์กรนั้นๆ และในปี 2550 สคส. ได้รู้จักแผนที่ผลลัพธ์ (Outcome Mapping: OM) จากที่ สสส. เชิญผู้เชี่ยวชาญ OM มาจากประเทศอเมริกา สคส. ได้นำ OM ไปใช้จริง ศึกษา เรียนรู้ และประยุกต์ จน OM ของ สคส. ไม่เหมือนต้นฉบับทั้งหมด แล้วเรียก OM ของเราว่า Modified OM (MOM) และเมื่อนำกระบวนการ KM ใส่เข้าไป ทำให้ สคส. เห็นภาพ KM ชัดขึ้นว่า MOM แท้จริงแล้วก็คือ "Strategic KM" นั่นเอง ดังนั้นตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมา KM ของ สคส. จึงประกอบด้วย 3 ส่วน คือ 1. Human KM (HKM) 2. Digital KM (DKM) และ 3. Strategic KM (SKM)
 

OM หรือ Strategic KM ในแบบของ สคส.

     แผนที่ผลลัพธ์ หรือ OM (Outcome Mapping) เปรียบว่าเป็นเครื่องมือวางแผน และเครื่องมือติดตามประเมินผลควบคู่ไปด้วยกัน เป็นการวางแผนที่ทำให้เราคาดคะเนความก้าวหน้าหรือผลที่จะเกิดขึ้นระหว่างการทำงานจนถึงปลายทางที่เราคาดหวังไว้ เป็นแผนที่เน้น Impact ในวงกว้าง เป็นการวางแผนและติดตามประเมินผลที่มุ่ง "การเปลี่ยนแปลงเชิงพฤติกรรม" OM จึงเป็นการวางแผนและติดตามประเมินผลที่เน้นการเปลี่ยนแปลงเชิงคุณค่า เน้นการเปลี่ยนแปลงของ "คนทำงาน" และผลที่เกิดขึ้นระหว่างทางไม่ใช่มุ่งผลลัพธ์ปลายทางที่จะเกิดขึ้นเพียงอย่างเดียว เพราะเชื่อว่า "หากพฤติกรรมของคนเปลี่ยน นั่นหมายถึงว่า การเปลี่ยนแปลงนั้นจะส่งผลต่อความสำเร็จระยะยาว เพราะพฤติกรรมย่อมสะท้อนถึงความเชื่อ และแนวทางปฏิบัติของคนเหล่านั้นนั่นเอง"

     OM เป็นการวางแผนเพื่อการลงมือปฏิบัติจริงไม่ใช่การวางแผนเพื่อให้คนจดจำง่ายหรือเป็นแผนเพื่อประชาสัมพันธ์ เพราะการจดจำง่ายหรือการใช้คำที่สวยหรูทำให้คนทำงานตีความได้หลายแบบ คนทำงานจึงอาจดำเนินการไปคนละทิศละทางได้ OM จึงเป็นการวางแผนที่ใช้คำง่ายๆ ละเอียด ชัดเจน และทำให้คนทำงานเข้าใจตรงกัน นอกจากนี้ OM ไม่ใช่การวางแผนเพื่อการดำเนินการเพียงอย่างเดียวแต่ต้องวางแผนเพื่อติดตามและประเมินผลการดำเนินการอีกด้วย และเมื่อติดตามและประเมินผลแล้วพบว่า แผนที่วางไว้ไม่สามารถดำเนินการจริงได้ หรือไม่สามารถทำให้เกิดผลลัพธ์ได้จริงเพราะมีปัจจัยต่างๆ มาเกี่ยวข้อง แผนที่วางไว้ก็สามารถปรับให้สอดคล้องกับความเป็นจริงได้ เพื่อไปสู่เป้าหมายเดิมที่ตั้งไว้ ด้วยแนวคิดที่ว่า การเขียนแผนเป็นเพียงการคาดเดาอนาคตที่คิดว่าน่าจะเกิดขึ้นหรือฝันว่าอยากให้เกิด แต่เมื่อนำไปปฏิบัติจริงแล้วแผนหรือฝันนั้นไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในสภาพความเป็นจริง แผนนั้นก็ต้องปรับ ไม่ควรดันทุรังทำตามแผนนั้นต่อไปอีก

     OM เป็นเครื่องมือที่ทำให้คนทำงานฝึกคิดเชื่อมโยงให้เป็นระบบ ตั้งแต่การวางแผนการดำเนินการ การหาภาคีเครือข่ายร่วมทำงาน และการติดตามประเมินผล ซึ่งทั้งหมดนี้ทำให้การดำเนินการบรรลุสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้โดยเกิดความผิดพลาดน้อยที่สุด
 
OM แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ดังนี้

1. วางแผนเพื่อการดำเนินการ

1.1 สร้างวิสัยทัศน์ (Vision)

     วิสัยทัศน์เป็นภาพฝัน เป็นจินตนาการที่เราปรารถนา และมุ่งมั่นอยากให้เกิดขึ้นจริง


2.1 กำหนดพันธกิจ (Mission)

     พันธกิจคือภารกิจหลักที่เราเลือกทำเพื่อให้ภาพฝันเป็นจริง พันธกิจเป็นเรื่องใหญ่ เราทำคนเดียวไม่ได้ต้องอาศัย "ตัวช่วย" ดูขั้นตอนที่ 3)


3.1 ระบุภาคีที่เราทำงานด้วย

ภาคีโดยตรง
(Direct Partners: DP)
เป็นคน กลุ่มคน หรือ องค์กร ที่เราทำงานด้วยโดยตรงและส่งผลต่อการบรรลุพันธกิจ ซึ่ง คน กลุ่มคน หรือ องค์กร เหล่านั้น พร้อมที่จะพัฒนา (ปรับเปลี่ยนวิธีคิด/ พฤติกรรม) เพื่อทำให้พันธกิจนั้นสัมฤทธิ์ผล
ภาคีกลยุทธ์
(Strategic Partners: SP)
เป็นคน กลุ่มคน หรือ องค์กร ที่มีวิสัยทัศน์ร่วมและพร้อมสนับสนุนให้เราบรรลุพันธกิจ


4.1 ความท้าทายเชิงผลลัพธ์ (Outcome Challenges : OC)

     เพื่อให้พันธกิจบรรลุผล DP จะต้องมีการพัฒนาไปในทางใด อะไรคือผลลัพธ์ที่ปรารถนา (ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรม ความสัมพันธ์ หรือ การกระทำ) ของ DP ที่เห็นว่าท้าทาย



5.1 เป้าหมายรายทาง (Progress Markers : PM)

     เป็นสิ่งที่บ่งชี้ว่าความก้าวหน้าในการดำเนินงานของเรานั้นก้าวไปถึงขั้นไหน ซึ่งแบ่งได้เป็น 3 ขั้นคือ

  1. Expect to see เป็นสิ่งที่คาดหวังว่าจะต้องได
  2. Like to see เป็นสิ่งที่เห็นว่าน่าจะเกิดขึ้นได
  3. Love to see เป็นสิ่งที่ถ้าเกิดขึ้นถือว่าประสบผลสำเร็จสูงสุด


 

6.1 แผนที่ยุทธศาสตร์ (Strategy Map : SM)

     เพื่อที่จะให้ DP ไปถึง OC เราจะมีแนวทางหรือวิธีการช่วยเหลือ สนับสนุน และ ส่งเสริม DP อะไรบ้าง โดยมุ่งเน้นที่ 2 ส่วน คือ

ส่วน individual (I):
มุ่งที่ DP โดยตรง เช่น แนะนำ ชักจูง ให้กำลังใจ ส่งเสริมความรู้ให้ DP มีความมั่นใจ เห็นประโยชน์ และความเป็นไปได้ที่จะไปถึง vision, ร่วมวางแผนและร่วมปฏิบัติการกับ DP ในทุกกระบวนการ, จัดกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในเรื่องต่างๆ ที่เสริมสร้างศักยภาพให้ DP ไปถึง OC, สนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ทางเทคนิคที่สำคัญบางอย่างให้ DP เพื่อให้การทำงานของ DP ประสบความสำเร็จ เป็นต้น
ส่วน Environment (E):
มุ่งที่ปัจจัยแวดล้อม DP เช่น เผยแพร่ข้อมูล ประชาสัมพันธ์ ผลงานหรือการทำงานของ DP ให้สาธารณะได้รับรู้เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจในการทำงาน, สร้างเครือข่ายการทำงานให้ DP ทำงานง่ายขึ้น, จัดเวทีแลกเปลี่ยนความสำเร็จในการทำงานของ DP กับหน่วยงานหรือองค์กรต่างๆ ที่ทำงานลักษณะเดียวกันเพื่อเผยแพร่และต่อยอดการทำงานให้ดียิ่งๆ ขึ้น เป็นต้น


7.1 การสนับสนุนขององค์กร (Organizational Practices : OP)

     เพื่อที่จะให้ Strategy ดำเนินไปได้ เราและหน่วยงานต้นสังกัดของเราจะต้องมีวิธีการทำงาน การปฏิบัติงาน และวัฒนธรรมการทำงานอย่างไร


 

สรุปภาพเชื่อมโยงการวางแผนโดยการประยุกต์ใช้ OM

2. วางแผนเพื่อการติดตามและประเมินผล

      หลังจากที่ได้วางแผนการดำเนินการเรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการออกแบบเพื่อการติดตามและประเมินผล โดยมีหลักคิดว่า ผู้วางแผนย่อมรู้ดีกว่าผู้อื่นว่าควรออกแบบการติดตามและประเมินผลจุดใดบ้าง ควรมีวิธีการอย่างไร ซึ่งขั้นตอนนี้ถือเป็นขั้นตอนสำคัญที่จะทำให้ผู้ปฏิบัติงานได้เรียนรู้ โดยยึดหลักที่ว่า เป็นการติดตามและประเมินผลเพื่อการเรียนรู้และพัฒนาการไม่ใช่เพื่อการจับผิด


สถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม
อาคาร เอส เอ็ม ชั้น 23 เลขที่ 979 ถนนพหลโยธิน แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพฯ 10400
โทร. 02-298-0664-8 โทรสาร. 02-298-0057 email:

Copyright ©  Knowledge Management Institute (KMI)   All Rights Reserved